วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2558

การใช้ภาพพจน์ในมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี



การใช้ภาพพจน์ในมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี

                ภาพพจน์ หรือ Figure of Speech คือกลวิธีอันเป็นศิลปะของการใช้ภาษา สำนวน ในการประพันธ์งานเขียนทั้งประเภทร้อยกรองและร้อยแก้ว โดยกล่าวถึงสิ่งหนึ่งแต่ให้มีความหมายถึงอีกสิ่งหนึ่ง เพื่อเพิ่มความเข้มข้นทางอารมณ์ ให้ซาบซึ้งกับเนื้อเรื่องได้มากขึ้น การเขียนภาพพจน์ส่วนใหญ่จะใช้คำน้อย แต่ได้ความมาก ทำให้ผู้อ่านเข้าใจสิ่งที่กวีต้องการจะสื่อได้ง่ายขึ้น
                ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกเป็นการประพันธ์ของเข้าพระยาพระคลัง (หน) แสดงให้เห็นถึงความรักที่ยิ่งใหญ่ของแม่ที่มีต่อลูกอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ ดั่งความรักของพระนางมัทรีที่มีต่อพระโอรสพระธิดา คือพระชาลีและพระกัณหา แต่เมื่อทราบความจริงว่าพระเวสสันดรผู้เป็นพระสวามีได้ยกลูกของตนให้กับชูชกเพื่อบำเพ็ญทานบารมีแล้ว พระนางจึงหักห้ามใจและร่วมอนุโมทนาบุญในครั้งนี้ด้วย

ภาพพจน์ที่มีปรากฏอยู่ในพระเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี เป็นการใช้ภาพพจน์แบบอุปมา(เปรียบเหมือน) อุปลักษณ์(เปรียบเป็น) บุคคลวัต การสมมุติสิ่งที่ไม่มีชีวิตให้มีชีวิต(แสดงกริยา อาการแบบมนุษย์ได้) และสุดท้าย สัทพจน์(การเลียนเสียงธรรมชาติ)

ตัวอย่างการใช้อุปมา มีคำเชื่อมคือ ดั่ง,ดุจ,เปรียบ,ปูน,ราว,กล และ เพี้ยง

ตัวอย่างของการใช้อุปมาที่ใช้คำเชื่อมคือคำว่า “ดั่ง”
v พระทรวงนางสั่นระรัวริกดั่งตีปลา
v โหยสำเนียงดั่งเสียงสังคีตขับประโคมไพร
v มัทรีนี้เป็นข้าเก่าแต่ก่อนมาดั่งเงาตามพระบาทก็เหมือนกัน
v ต้องกับแสงกับแสงกรวดทรายที่ใต้ต้นอร่ามวาบวาวดูเป็นวนวงแววดั่งบุคคลเอาแก้วมาระแนงแกล้งมาโปรยโรยรอบปริมณฑลก็เหมือนกัน งามดั่งไม้ปาริชาตในเมืองสวรรค์มาปลูกไว้
v อุปไมยเสมือนหนึ่งลูกทรายทรามคะนองปองที่ว่าจะชมแม่เมื่อสายัณห์
v นางก็เศร้าสร้อยสลดพระทัยดั่งเอาเหล็กแดงมาแทงใจให้เจ็บจิตนี่เหลือทนอุปมาเหมือนคนไข้หนักแล้วมิหนำยังแพทย์เอายาพิษมาวางซ้ำให้เวทนาเห็นชีวานี้คงไม่รอดไปสักกี่วัน
v อนิจจาเอ่ย วาสนามัทรีไม่สมคะเนแล้ว พระทูลกระหม่อมแก้วจึงชิงชังไม่พูดจา ทั้งลูกรักดั่งแก้วตาก็หายไป  อกเอ่ยจะอยู่ไปใยให้ทนเวทนา อุปมาเสมือนหนึ่งพฤกษาลดาวัลย์ย่อมจะอาสัญเพราะลูกเป็นแท้เที่ยง
v เจ้าผู้มีพักตร์อันผุดผ่องเสมือนหนึ่งเอาน้ำทองเข้ามาทาบทับประเทืองผิวราวกับว่าจะลอยลิ่วเลื่อนลงจากฟ้า
v อุปมาแม้นเหมือนสีดาอันภักดีต่อสามารามบัณฑิต ปานประหนึ่งว่าศิษย์กับอาจารย์

ตัวอย่างการใช้อุปลักษณ์ มีคำเชื่อมคือ เป็น หรือ คือ
            เมื่อพระนางมัทรีสลบลงตรงหน้าพระเวสสันดรเพราะความเหนื่อยอ่อนและความเสียใจที่ตามหาลูกทั้งสองไม่เจอพระเวสสันดรก็ทรงรีบยกพระนางขึ้นวางตักและทรงช่วยให้นางฟื้นคืนสติ บทคร่ำครวญของพระเวสสันดรในตอนนั้นเป็นตัวอย่างของการใช้อุปลักษณ์มาเป็นบทเปรียบ ถือได้ว่าเป็นความเปรียบที่สื่อออกมาได้ชัดเจนและคมคายมาก
v ...บุญพี่นี้น้อยแล้วนะเจ้าเพื่อนยาก     เจ้ามาตายจากพี่ไปในวงวัด เจ้าจะเอาป่าชัฏนี่หรือมาเป็นป่าช้า จะเอาบรรณศาลานี่หรือมาเป็นบริเวณพระเมรุทอง               จะเอาแต่เสียงสาลิกาอันร่ำร้องนี้หรือมาเป็นกลองประโคมใน จะเอาแต่เสียงจักจั่นและเรไรร่ำร้องนั่นหรือมาต่างแตรสังข์และพิณพาทย์  จะเอาแต่เมฆหมอกนั้นหรือมากั้นเป็นเพดาน    จะเอาแต่ยูงยางในป่าหิมพานต์มาต่างฉัตรเงินและฉัตรทอง                จะเอาแต่แสงพระจันทร์อันผุดผ่องมาต่างประทีปแก้วงามโอภาส...
ตัวอย่างของอุปลักษณ์ที่ไม่ได้บอกคำเชื่อม
v โอ้เจ้าดวงสุริยันจันทรของแม่เอย
o   เปรียบชาลีเป็นสุริยัน
o   เปรียบกัณหาเป็นจันทร
v หวังว่าจะเป็นเกือกทองฉลองบาทยุคลทั้งคู่แห่งพระคุณผัว
o   พระนางมัทรีเปรียบตัวเองว่าตัวเองเป็นเกือกทอง

ตัวอย่างการใช้บุคลวัต
v ทั้งอาศรมก็หมองศรีเสมือนหนึ่งว่าจะเศร้าโศก
o   อาศรมเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต เพราะฉะนั้น อาศรมจะเศร้าโศกไม่ได้ แต่ในที่นี้ผู้เขียนได้ใช้ภาพพจน์แบบ      บุคลวัตมาใช้
v พระกรรณเธอสังเกตว่าสองดรุณเยาวเรศเจ้าร้องขานอยู่แว่วๆ
o   ให้หูให้สังเกต แทนที่จะฟัง
ตัวอย่างการใช้สัทพจน์
การใช้ภาพพจน์แบบ สัทพจน์ (การเลียนเสียง) ทำให้ข้อความมีชีวิตชีวามากขึ้น เช่น
v เสียงเนื้อนกนี่ร่ำร้องสำราญเรียกคู่คูขยับขัน
v ทั้งจักจั่นพรรณลองไนเรไรร้องอยู่หริ่งๆ ระเรื่อยโรย
v ดะดุ่มเดินเมิลมุ่งละเมาะไม้มอบหมอบแต่ย่างเหยียบเกรียบกรอบก็เหลียวหลัง
v พระโสตฟังให้หวาดแว่วว่าสำเนียงเสียงพระลูกแก้ว เจ้าบ่นอยู่งึมๆ
v สมเด็จอรไทเธอเที่ยวตะโกนอยู่กู่กู๋ก้อง

มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี เป็นวรรณคดีมีคุณค่ามากในด้านวรรณศิลป์ การประพันธ์อย่างมีศิลปะสูงแบบนี้สามารถสร้างจินตภาพที่เด่นชัดและทำให้ผู้อ่านเกิดความซาบซึ้ง หรือเกิดอารมณ์สะเทือนใจตามตัวละครได้ดียิ่งขึ้น นอกจากจะมีคุณค่ามากทางด้านวรรณศิลป์แล้ว มหาเวสสันดรชาดกยังมีเนื้อหาที่สนุกสนานตื่นเต้น และมีคติข้อคิดสอนคน จึงทำให้วรรณคดีเรื่องนี้เป็นที่นิยมอ่านของคนไทยกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ควรค่าแก่การศึกษาอย่างยิ่ง





การใช้คำและการใช้ภาพพจน์ของวารีดุริยางค์



เมื่อสายน้ำบรรเลงเพลงชีวิต

          เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ เป็นกวีที่ได้รังรางวัลสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนหรือซีไรท์ และรางวัลอื่นๆอีกมากมาย เช่น พระเกี้ยวทองคำ และรางวัลศรีบูรพา นอกจากนี้ยังมีผลงานทั้งในรูปแบบร้อยแก้วและร้อยกรอง เผยแพร่และเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายทั้งในและนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง บทกวี”วารีดุริยางค์” เป็นหนึ่งในผลงานของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์


          สาระสำคัญของบทกวี วารีดุริยางค์ คือการกลับไปมองธรรมชาติรอบตัวเพื่อทำให้จิตใจที่เหนื่อยล้าได้รับการพักผ่อน  หยุดดิ้นรน หยุดสะสม ละทิ้งความวุ่นวายต่างๆ เลิกปรุงแต่งจิตและมองโลกตามความเป็นจริง เปรียบให้ร่างกายให้เป็นดั่งต้นไม้ที่สงบแข็งแรง เป็นที่ร่มเงาให้แก่ผู้คน และให้จิตใจเป็นสายน้ำที่ไหลไปตามที่ต่างๆอย่างเป็นอิสระ ไม่ยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เมื่อเกิดความทุกข์ก็ให้ทำตัวให้เหมือนก้อนกรวดที่เข้าใจโลก เห็นทุกอย่างเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งรอบด้าน และให้มีสติอยู่ตลอด

ลักษณะการแต่งบทร้อยกรองในวารีดุริยางค์มีจุดเด่นคือการแต่งและการดำเนินเรื่องอย่างเป็นระเบียบ เช่น
เพชรน้ำค้างค้างหล่นบนพรมหญ้า            เย็นหยาดฟ้ามาฝันหลงวันใหม่
เคล้าเคลียหยอกดอกหญ้าอย่างอาลัย       เมื่อแฉกดาวใบไผ่ไหวตะวัน

น้ำค้างเกิดความอาลัยต่อดอกหญ้าเพราะใกล้เวลาเช้า เมื่อดวงอาทิตย์เริ่มโผล่ขึ้นมาจากขอบฟ้า และอีกไม่นานน้ำค้างที่เกาะอยู่บนหญ้าก็จะระเหยหายไป

ลมระเริงลู่หวิวพลิ้วระลอก           สัพยอกยอดไม้ไปลิ่วล่อง
แล้วใบไม้ก็ไหวส่ายขึงข่ายกรอง  ทอแสงทองทอดประทับซับน้ำค้าง

บทนี้ยิ่งแสดงให้เห็นถึงลำดับเหตุการณ์ชัดเจน เพราะมีลมพัดยอดไม้ ใบไม้จึงสั่นไหว เกิดเป็นเงาตะข่ายขึ้น และแสงอาทิตย์ที่ทอดลงมาผ่านเงาไม้นั้นต้องกระทบกับน้ำค้าง ก่อนที่จะซับน้ำค้างให้หายไป
ทางด้านวรรณศิลป์ การใช้คำ ในบทกวีวารีดุริยางค์มีรูปแบบของการเล่นเสียงสัมผัสสัมผัสสระและพยัญชนะเพื่อให้เกิดทำนอง เสียงที่ไพเราะน่าฟัง ซึ่งมีปรากฏอยู่ดังนี้

สัมผัสสระ
-          เพื่อชื่นชมรมณีย์กับชีวิต ที่จะคิดที่จะทำตามคิดเห็น
ระเรื่อยเรื่อยเฉื่อยฉ่ำลืมลำเค็ญ ลืมความเป็นปรัศนีของชีวิต
-          ผีเสื้อสวยแต้มสีที่กลีบแก้ม       ชมพูแย้มแดงระยับสลับม่วง
สัมผัสพยัญชนะ
-          ขวัญเจ้าเอยจงสะอางกลางป่าแก้ว         จะเจื่อยแจ้วจับใจเพลงไผ่สี
-          แล้วใบไม้ก็ไหวส่าย ขึงข่ายกรอง ทอแสงทองทอดประทับซับน้ำค้าง
-          ฝักต้อยติ่งแตกจังหวะประชันกัน          จักจั่นจี่เจื้อยรับเรื่อยร้อง

นอกจากการเล่นเสียงสัมผัส ยังมีการซ้ำคำและซ้ำวลี เพื่อย้ำความหมายของข้อความให้เกิดความหนัก-เบา ในบทกวีวารีดุริยางค์มีลักษณะการซ้ำครบทั้งสองรูปแบบ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

การซ้ำคำ
- ใจจึงหน่ายจึงเหนื่อยจึงเมื่อยล้า            วุ่นผวาว่อนไหวถูกไล่ต้อน
เกิดแล้วก่อล่อแล้วเร้นเย็นแล้วร้อน        ไม่พักผ่อนเพียงสักคราวเฝ้าแฟบฟู
เป็นการใช้คำสันทานซ้ำคำเพื่ออธิบายลำดับขั้นตอน เมื่อใจเหนื่อยและหน่ายจึงเกิดความเมื่อยล้า

-          จงหยุดชมชื่นใจในใจเถิด         ทุกสิ่งเกิดก่อไว้ในใจก่อน
สมมติจากหัวใไปทุกตอน          ใจจึงซ่อนทุกสิ่งจริงลวงไว้
ในบทนี้ซ้ำคำว่าใจเพื่อเน้นย้ำว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มต้นจากที่ใจ

- เลิกความคิดขันเข่งปรุงแต่งจิต เลิกชีวิตวุ่นวายในทุกที่
เลิกเดือดร้อนดิ้นรนคนไยดี                 ไม่ต้องมีปรารถนาในอารมณ์
- ฟังต้นไม้สายน้ำย้ำให้หยุด      หยุดเสียทีเถิดมนุษย์หยุดสะสม
หยุดปรุงแต่งแสร้งตามความนิยม          สร้างสังคมโสโครกโลกจึงร้อน

ในสองบทหลังมีการซ้ำคำว่า “เลิก” และ“หยุด” เป็นการเน้นให้ทำ ทั้งสองบทนี้มีความสัมพันธ์กัน เพราะการที่เราจะหยุดพฤติกรรมของตัวเองได้นั้น เราต้องเลิกก่อนถึงจะหยุดได้ เลิกการปรุงแต่จิต เลิกวุ่นวาย เลิกคิดว่าใครจะมองเราอย่างไรให้ได้ก่อนจึงจะหยุดสะสมความโลภ ความอยากต่างๆ และหยุดการเสแสร้งได้

การซ้ำวลี
และเราลิ้มรสหวามของความหวาน          จากสายธารที่ไหลไม่รู้จบ
จากสายใจไหลย้อนซอกซอนซบ เงียบสงบระงับลงตรงมุมนี้

          ในบทกวีวารีดุริยางค์มีการสร้างภาพขึ้นในใจเพื่อแทนความคิด อารมณ์ และประสบการณ์ด้านความรู้สึกอย่างชัดเจนผ่านการบรรยาย เราเรียกวิธีการนี้ว่าการใช้จินตภาพ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

การใช้จินตภาพทางการมองเห็น
-          หางนกยูงระย้าเรี่ยคลอเคลียน้ำ   แพนดอกฉ่ำช้อยช่อวรวิจิตร
งามดั่งเปลวเพลิงป่ามานิรมิต      สร้อยโสภิตอภิรุมพุ่มหัวใจ

-          ลมระเริงลู่หวิวพลิ้วระลอก           สัพยอกยอดไม้ไปลิ่วล่อง
แล้วใบไม้ก็ไหวส่าย ขึงข่ายกรอง ทอแสงทองทอดประทับซับน้ำค้าง

จินตนาการทางด้านการได้ยิน
-          มโหรีจากราวป่ามาเรื่อยรี่         ราชินีแห่งน้ำค้างจะห่างหัน
ฝักต้อยติ่งแตกจังหวะประชันกัน จักจั่นจี่เจื้อยรับเรื่อยร้อง

จินตภาพทางการได้กลิ่น
-          ดอกไม้ป่าปรุงกลิ่นประทิ่นป่า      อบบุหงามาลัยทั่วไพรกว้าง
หอมจนหอบหัวใจไปเคว้งคว้าง  เคลิ้มถวิลกลิ่นปรางอบกลางทรวง

จินตภาพทางการรับรส
- และเราลิ้มรสหวามของความหวาน      จากสายธารที่ไหลไม่รู้จบ
จากสายใจไหลย้อนซอกซอนซบ  เงียบสงบระงับลงตรงมุมนี้

          การใช้ภาพพจน์แบบบุคลวัต คือการสมมุติสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ให้ทำกริยาท่าทางเลียนแบบมนุษย์ สิ่งที่ไม่มีไม่ใช่มนุษย์ในที่นี้จะรวมถึงสัตว์ สิ่งของ และนามธรรม ในวารีดุริยางค์ จะใช้ภาพพจน์ในรูปแบบนี้มากเป็นพิเศษเนื่องจากว่าเนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ ความคิด และสิ่งที่เป็นนามธรรม


ตัวอย่างการใช้ภาพพจน์แบบบุคลวัต

-          ซอสายทิพย์กระซิบบอกดอกไม้บาน         เล่านิทานที่อยากฟังอย่างปรานี
-           
-          หางนกยูงระย้าเรี่ยคลอเคลียน้ำ   แพนดอกฉ่ำช้อยช่อวรวิจิตร
-          เคล้าเคลียหยอกดอกหญ้าอย่างอาลัย       เมื่อแฉกดาวใบไผ่ไหวตะวัน
-          สงสารใจ ใจเจ้าเอ๋ยไม่เคยนิ่ง       วนและวิ่งคืนและวันหวั่นและไหว
เหมือนถูกกายกำบังกักขังใจ เล่นสระและพยัญชนะ     ใจจึงได้ดิ้นรนทุกหนทาง

          การนำสิ่งที่ต่างกันสองสิ่งที่มีลักษณะเด่นบางประการนำมาเปรียบเทียบกันโดยใช้คำเชื่อม เหมือน ,ดั่ง,ดุจ ,เปรียบ,ปูน ,ราว ,กล และเพี้ยง คือการใช้ภาพพจน์แบบอุปมา เช่น งามดั่งเปลวเพลิงป่ามานิรมิต   สร้อยโสภิตอภิรุมพุ่มหัวใจ แต่การเขียนจะมีการใช้อุปลักษณ์มากกว่า ตัวอย่างอุปลักษณ์เช่น วารีดุริยางค์ เพชรน้ำค้าง แฉกดาวใบไผ่ ราชินีแห่งน้ำค้าง  กลางคืนคอยเป็นควันอัดอั้นไว้ ครั้นกลางวันเป็นไฟไปทุกอย่าง


          ลักษณะเด่นอีกอย่างในบทกวีวารีดุริยางค์คือการใช้คำที่มีความหมายไม่สอดคล้องกัน มารวมกัน ดังบทกวีต่อไปนี้


แทบฝั่งธารที่เราเฝ้าฝันถึง           เสียงน้ำซึ่งกระซิบสาดปราศจากเสียง
จักรวาลวุ่นวายไร้สำเนียง          โลกนี้เพียงแผ่นภพสงบเย็น
ในบทข้างต้นมีการใช้คำที่มีความหมายขัดแย้งกันอยู่ เสียงกระซิบซึ่งไม่มีเสียง จักรวาลวุ่นวายแต่ไม่มีเสียงดัง เราเรียกภาพพจน์แบบนี้ว่าปฏิพจน์




สิ่งที่ได้จากการอ่านวารีดุริยางค์ คือการเห็นความงามของธรรมชาติมีคุณค่าเหนือความงามที่มนุษย์ปรุงแต่ง การหลุดพ้นจากความเหนื่อยล้าทางใจโดยการมองโลกตามความเป็นจริง ปล่อยวางและไม่ขาดสติ (รู้ตัวอยู่ทุกขณะ) นอกจากจะมีคุณค่าทางด้านเนื้อหาแล้ววารีดุริยางค์เป็นบทกวีที่มีคุณค่าทางด้านวรรณศิลป์ด้วยควรค่าแก่การศึกษาอย่างยิ่ง