วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2558

การใช้ภาพพจน์ในมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี



การใช้ภาพพจน์ในมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี

                ภาพพจน์ หรือ Figure of Speech คือกลวิธีอันเป็นศิลปะของการใช้ภาษา สำนวน ในการประพันธ์งานเขียนทั้งประเภทร้อยกรองและร้อยแก้ว โดยกล่าวถึงสิ่งหนึ่งแต่ให้มีความหมายถึงอีกสิ่งหนึ่ง เพื่อเพิ่มความเข้มข้นทางอารมณ์ ให้ซาบซึ้งกับเนื้อเรื่องได้มากขึ้น การเขียนภาพพจน์ส่วนใหญ่จะใช้คำน้อย แต่ได้ความมาก ทำให้ผู้อ่านเข้าใจสิ่งที่กวีต้องการจะสื่อได้ง่ายขึ้น
                ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกเป็นการประพันธ์ของเข้าพระยาพระคลัง (หน) แสดงให้เห็นถึงความรักที่ยิ่งใหญ่ของแม่ที่มีต่อลูกอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ ดั่งความรักของพระนางมัทรีที่มีต่อพระโอรสพระธิดา คือพระชาลีและพระกัณหา แต่เมื่อทราบความจริงว่าพระเวสสันดรผู้เป็นพระสวามีได้ยกลูกของตนให้กับชูชกเพื่อบำเพ็ญทานบารมีแล้ว พระนางจึงหักห้ามใจและร่วมอนุโมทนาบุญในครั้งนี้ด้วย

ภาพพจน์ที่มีปรากฏอยู่ในพระเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี เป็นการใช้ภาพพจน์แบบอุปมา(เปรียบเหมือน) อุปลักษณ์(เปรียบเป็น) บุคคลวัต การสมมุติสิ่งที่ไม่มีชีวิตให้มีชีวิต(แสดงกริยา อาการแบบมนุษย์ได้) และสุดท้าย สัทพจน์(การเลียนเสียงธรรมชาติ)

ตัวอย่างการใช้อุปมา มีคำเชื่อมคือ ดั่ง,ดุจ,เปรียบ,ปูน,ราว,กล และ เพี้ยง

ตัวอย่างของการใช้อุปมาที่ใช้คำเชื่อมคือคำว่า “ดั่ง”
v พระทรวงนางสั่นระรัวริกดั่งตีปลา
v โหยสำเนียงดั่งเสียงสังคีตขับประโคมไพร
v มัทรีนี้เป็นข้าเก่าแต่ก่อนมาดั่งเงาตามพระบาทก็เหมือนกัน
v ต้องกับแสงกับแสงกรวดทรายที่ใต้ต้นอร่ามวาบวาวดูเป็นวนวงแววดั่งบุคคลเอาแก้วมาระแนงแกล้งมาโปรยโรยรอบปริมณฑลก็เหมือนกัน งามดั่งไม้ปาริชาตในเมืองสวรรค์มาปลูกไว้
v อุปไมยเสมือนหนึ่งลูกทรายทรามคะนองปองที่ว่าจะชมแม่เมื่อสายัณห์
v นางก็เศร้าสร้อยสลดพระทัยดั่งเอาเหล็กแดงมาแทงใจให้เจ็บจิตนี่เหลือทนอุปมาเหมือนคนไข้หนักแล้วมิหนำยังแพทย์เอายาพิษมาวางซ้ำให้เวทนาเห็นชีวานี้คงไม่รอดไปสักกี่วัน
v อนิจจาเอ่ย วาสนามัทรีไม่สมคะเนแล้ว พระทูลกระหม่อมแก้วจึงชิงชังไม่พูดจา ทั้งลูกรักดั่งแก้วตาก็หายไป  อกเอ่ยจะอยู่ไปใยให้ทนเวทนา อุปมาเสมือนหนึ่งพฤกษาลดาวัลย์ย่อมจะอาสัญเพราะลูกเป็นแท้เที่ยง
v เจ้าผู้มีพักตร์อันผุดผ่องเสมือนหนึ่งเอาน้ำทองเข้ามาทาบทับประเทืองผิวราวกับว่าจะลอยลิ่วเลื่อนลงจากฟ้า
v อุปมาแม้นเหมือนสีดาอันภักดีต่อสามารามบัณฑิต ปานประหนึ่งว่าศิษย์กับอาจารย์

ตัวอย่างการใช้อุปลักษณ์ มีคำเชื่อมคือ เป็น หรือ คือ
            เมื่อพระนางมัทรีสลบลงตรงหน้าพระเวสสันดรเพราะความเหนื่อยอ่อนและความเสียใจที่ตามหาลูกทั้งสองไม่เจอพระเวสสันดรก็ทรงรีบยกพระนางขึ้นวางตักและทรงช่วยให้นางฟื้นคืนสติ บทคร่ำครวญของพระเวสสันดรในตอนนั้นเป็นตัวอย่างของการใช้อุปลักษณ์มาเป็นบทเปรียบ ถือได้ว่าเป็นความเปรียบที่สื่อออกมาได้ชัดเจนและคมคายมาก
v ...บุญพี่นี้น้อยแล้วนะเจ้าเพื่อนยาก     เจ้ามาตายจากพี่ไปในวงวัด เจ้าจะเอาป่าชัฏนี่หรือมาเป็นป่าช้า จะเอาบรรณศาลานี่หรือมาเป็นบริเวณพระเมรุทอง               จะเอาแต่เสียงสาลิกาอันร่ำร้องนี้หรือมาเป็นกลองประโคมใน จะเอาแต่เสียงจักจั่นและเรไรร่ำร้องนั่นหรือมาต่างแตรสังข์และพิณพาทย์  จะเอาแต่เมฆหมอกนั้นหรือมากั้นเป็นเพดาน    จะเอาแต่ยูงยางในป่าหิมพานต์มาต่างฉัตรเงินและฉัตรทอง                จะเอาแต่แสงพระจันทร์อันผุดผ่องมาต่างประทีปแก้วงามโอภาส...
ตัวอย่างของอุปลักษณ์ที่ไม่ได้บอกคำเชื่อม
v โอ้เจ้าดวงสุริยันจันทรของแม่เอย
o   เปรียบชาลีเป็นสุริยัน
o   เปรียบกัณหาเป็นจันทร
v หวังว่าจะเป็นเกือกทองฉลองบาทยุคลทั้งคู่แห่งพระคุณผัว
o   พระนางมัทรีเปรียบตัวเองว่าตัวเองเป็นเกือกทอง

ตัวอย่างการใช้บุคลวัต
v ทั้งอาศรมก็หมองศรีเสมือนหนึ่งว่าจะเศร้าโศก
o   อาศรมเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต เพราะฉะนั้น อาศรมจะเศร้าโศกไม่ได้ แต่ในที่นี้ผู้เขียนได้ใช้ภาพพจน์แบบ      บุคลวัตมาใช้
v พระกรรณเธอสังเกตว่าสองดรุณเยาวเรศเจ้าร้องขานอยู่แว่วๆ
o   ให้หูให้สังเกต แทนที่จะฟัง
ตัวอย่างการใช้สัทพจน์
การใช้ภาพพจน์แบบ สัทพจน์ (การเลียนเสียง) ทำให้ข้อความมีชีวิตชีวามากขึ้น เช่น
v เสียงเนื้อนกนี่ร่ำร้องสำราญเรียกคู่คูขยับขัน
v ทั้งจักจั่นพรรณลองไนเรไรร้องอยู่หริ่งๆ ระเรื่อยโรย
v ดะดุ่มเดินเมิลมุ่งละเมาะไม้มอบหมอบแต่ย่างเหยียบเกรียบกรอบก็เหลียวหลัง
v พระโสตฟังให้หวาดแว่วว่าสำเนียงเสียงพระลูกแก้ว เจ้าบ่นอยู่งึมๆ
v สมเด็จอรไทเธอเที่ยวตะโกนอยู่กู่กู๋ก้อง

มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี เป็นวรรณคดีมีคุณค่ามากในด้านวรรณศิลป์ การประพันธ์อย่างมีศิลปะสูงแบบนี้สามารถสร้างจินตภาพที่เด่นชัดและทำให้ผู้อ่านเกิดความซาบซึ้ง หรือเกิดอารมณ์สะเทือนใจตามตัวละครได้ดียิ่งขึ้น นอกจากจะมีคุณค่ามากทางด้านวรรณศิลป์แล้ว มหาเวสสันดรชาดกยังมีเนื้อหาที่สนุกสนานตื่นเต้น และมีคติข้อคิดสอนคน จึงทำให้วรรณคดีเรื่องนี้เป็นที่นิยมอ่านของคนไทยกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ควรค่าแก่การศึกษาอย่างยิ่ง





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น