สรรพสิทธิคำฉันท์ นิทานซ้อนนิทานของไทย
นิทานซ้อนนิทานเป็นลักษณะการแต่งเรื่องที่พบบ่อยในวรรณคดีสันสกฤตโบราณ
ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับนิทานเวตาลและหนึ่งพันราตรี รูปแบบการแต่งแบบนิทานซ้อนนิทาน
ไม่ได้มีแค่วรรณคดีสันสกฤตเท่านั้นที่ใช้ เรื่องสรรพสิทธิคำฉันท์ของไทยเองก็นำการแต่งนี้มาประยุกต์ใช้ด้วยเช่นกัน
การอ่านเรื่องสรรพสิทธิ์นี้
ผู้อ่านต้องเข้าใจก่อนว่าเป็นนิทานที่ค่อนข้างเก่า อาจจะมีวิถีการดำเนินชีวิต
หรือบทบาทของชายหญิงที่แตกต่างจากปัจจุบันทำให้เรารู้สึกขัดแย้ง อีกส่วนคือภาษาที่ค่อนข้างเก่า
รวมถึงตัวฉันท์ที่สอดแทรกอยู่ในเรื่อง
คำบางคำอาจไม่มีใช้ในปัจจุบันจึงยากแก่การตีความ บางครั้งต้องหยุดคิดเล็กน้อยขณะอ่านเพื่อทำความเข้าใจ
เรื่องราวของพระสรรพสิทธิเริ่มต้นที่
พระเจ้าอุรุภราชกษัตริย์แห่งเมือง “คิรีพัชร”ทรงมีพระราชธิดาองค์หนึ่งนามว่า นางสุพรรณโสภา
ความงามของนางนั้นเป็นที่เลื่องลือไปทั่วทุกสารทิศ พระเจ้าอุรุภราชเกรงว่านางไม่มีคู่ครองเนื่องจากนางไม่ยอมพูดกับชายใดเลยแม้กระทั่งบิดา
พระองค์จึงสร้างข้อตกลงว่า ถ้าใครทำให้นางสุพรรณโสภายอมพูดด้วยได้จะยกนางสุพรรณโสภาให้อภิเษกด้วย
แต่จนแล้วจนเล่าก็ไม่เคยมีผู้ใดทำสำเร็จ
พระสรรพสิทธิตัดสินใจเดินทางไปเมืองคิรีพัชรทันทีที่ได้ยินข่าวลือเรื่องรูปโฉมของนางสุพรรณโสภา
เมื่อไปถึง พระเจ้าอุศุภราชแห่งกรุงคิรีพัชรก็ต้อนรับพระสรรพสิทธิอย่างแขกเมืองผู้มีเกียรติ
ตกดึกพระสรรพสิทธิก็ได้เข้าไปยังเรือนหลวงของนางสุพรรณโสภาโดยพาอำมาตย์คนหนึ่งชื่อ
จิตรเสน ติดพระองค์เข้าไปด้วย
ในยามแรกพระสรรพสิทธิได้ถอดดวงจิตของจิตรเสนไปไว้ในไม้ประทีป
พระองค์ได้ทำทีเป็นเล่านิทานให้ดวงจิตของจิตรเสนฟัง และได้ถามปัญหาจากนิทาน เมื่อดวงจิตรของจิตรเสนตอบคำถามผิด
นางสุพรรณโสภาอดไม่ได้ที่จะแย้งด้วยคำตอบที่ถูก ทุกครั้งที่เล่านิทานพระสรรพสิทธิจะค่อยๆย้ายดวงจิตไปใกล้นางสุพรรณโสภามากขึ้นเรื่อยๆ
จากไม้ประทีปไปขาเตียง ผ้าห่ม และหมอนของนางสุพรรณโสภาตามลำดับ พอถึงรุ่งเช้าพระสรรพสิทธิจึงได้อภิเษกกับนางสุพรรณโสภา
ข่าวการอภิเษกระหว่าพระสรรพสิทธิและนางสุพรรณโสภาแพร่สะพัดไปถึงกษัตริย์ทั้งสามพระองค์ที่เคยมาสู่ขอนางสุพรรณโสภาแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
ทั้งสามจึงจัดทัพมาล้อมเมืองคิรีพัชรไว้เพื่อหมายจะชิงนาง พระสรรพสิทธิได้ออกไปทำการสู้ศึกจนได้ชัยชนะ เวลาผ่านไปสองปีพระสรรพสิทธิก็คิดถึงพระมารดาจึงขอพระเจ้ากรุงคิรีพัชรกลับ
อลิกนคร พร้อมกับนางสุพรรณโสภา คืนหนึ่งขณะที่พระสรรพสิทธิและนางสุพรรณโสภากำลังพักแรมอยู่ในป่า
ได้มียักษ์ตนหนึ่งชื่อ“กาลจักร” ลักพาตัวนางสุพรรณโสภาไปยังเมือง(เขา)กาฬกูฏ ของตน
แต่ด้วยอำนาจความซื่อสัตย์ของนางสุพรรณโสภาที่ซื่อตรงต่อพระสรรพสิทธิทำให้กาลจักรไม่สามารถทำอะไรนางได้
เมื่อพระสรรพสิทธิตื่นขึ้นมาตอนรุ่งเช้าไม่เห็นนางสุพรรณโสภาก็เสียใจเป็นอันมากจึงออกตามหานาง
จนกระทั่งรู้ว่านางโดนยักษ์กาลจักรจับตัวไป
พระสรรพสิทธิได้ต่อสู้กับกาลจักรและเป็นฝ่ายชนะ
จึงพานางสุพรรณโสภากลับถึงเมืองอลิกนครได้อย่างปลอดภัย เมื่อถึงเวลาที่พระสรรพสิทธิได้ขึ้นครองราชย์
พระองค์จึงรวมเมือง อลิกนครกับคิรีพัชรให้เป็นแผ่นดินเดียวกัน
ทั้งพระสรรพสิทธิและนางสุพรรณโสภาต่างก็อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
หลังจากที่ได้อ่านนิทานเรื่องนี้แล้วจะเห็นได้ว่าพระสรรพสิทธิเป็นคนที่ฉลาด
ไหวพริบดีเพราะพระองค์รู้จักเลือกวิธีการที่จะทำให้นางสุพรรณโสภาพูดกับตน
โดยใช้ดวงจิตของจิตรเสนเป็นสื่อกลาง
และด้วยความที่พระสรรพสิทธิรู้ว่านางสุพรรณโสภาเป็นคนฉลาดจึงคาดเดาได้ไม่ยากว่า
เมื่อพระองค์ถามคำถามกับดวงจิตแล้วดวงจิตตอบผิดหรือตอบไม่ตรงใจนาง
จึงเป็นธรรมดาที่นางสุพรรณโสภาจะต้องโต้แย้งขึ้นมา
(นิสัยคล้ายกับพระวิกรมาทิตย์ในนิทานเวตาล)
ผู้แต่งได้นำเรื่องราวจากวรรณคดีเรื่องพระนลมาใช้ตอนที่เกิดสงครามชิงนางเพราะความเจ็บใจของกษัตริย์ที่ไม่สามารถเอาชนะใจนางสุพรรณโสภาได้
พระนลเองก็ไม่ใช่เรื่องเดียวที่แฝงอยู่ในสรรพสิทธิคำฉันท์
รามเกียรติเองก็มีเช่นกัน
เห็นได้จากตอนที่ยักษ์กาลจักรได้ลักพาตัวนางสุพรรณโสภาไปไว้ที่เมืองของตนแล้วพระสรรพสิทธิต้องตามไปช่วยนาง
อันที่จริงเรื่องราวของพระสรรพสิทธิน่าจะจบได้ตั้งแต่ที่พระสรรพสิทธิได้อภิเษกกับนางสุพรรณโสภาแล้ว
แต่ผู้แต่งยังเลือกที่จะยืดเรื่องออกไปโดยใส่โครงเรื่องที่คล้ายกันจากวรรณคดีที่มีอยู่ก่อนแล้วเพื่อเป็นการแสดงความรู้
ความสามารถในการประพันธ์เรื่องของตนให้ดูมีหลักเหตุผลรับรอง