วันพุธที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2557

Taken สู้ ไม่รู้จักตาย (Where is my daughter?)


Taken สู้ ไม่รู้จักตาย (Where is my daughter?)

            คิม ลูกสาวคนเดียวของ ไบรอัน อดีต CIA ถูกลักพาตัวขณะอยู่ในปารีสโดยแก๊งค้ามนุษย์ ไบรอันมีเวลาเพียง96ชั่วโมงเท่านั้นที่จะพาลูกสาวกลับมาก่อนที่เขาจะไม่ได้เจอเธออีก

            ในตอนแรกของหนังจะพูดถึงชีวิตของไบรอันอดีต CIA ที่ทำงานเพื่อชาติจนเมียต้องหอบลูกหนีไปแต่งงานใหม่ แต่ไบรอันก็ยังรักและห่วงลูก เมื่อลูกโตเป็นสาวไบรอันจึงตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อคอยดูแลลูกสาวคนเดียว(คิม)แบบห่างๆ จนกระทั่งวันหนึ่งลูกมาขอให้พ่อเซ็นใบอนุญาตเพื่อที่จะไปปารีสกับเพื่อน ตอนแรกไบรอันก็ไม่ยอมเพราะคิดว่าปารีสเป็นที่ที่อันตราย แต่สุดท้ายก็เซ็น แต่การตัดสินใจเซ็นใบอนุญาตคราวนี้อาจเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ของไบรอัน เพราะคิมและเพื่อนของเธอถูกคนในแก๊งค้ามนุษย์ลักพาตัวขณะคุยโทรศัพท์กับไบรอัน และคนร้ายก็เป็นฝ่ายถือโทรศัพท์อยู่ ไบรอันเลยพูดประโยคเด็ดเพื่อเปิดฉากความสนุกของหนังออกมา

ฉันไม่รู้หรอกแกเป็นใครฉันไม่รู้หรอกว่าแกต้องการอะไร...
ถ้าแกทำเพื่อเรียกค่าไถ่ ฉันบอกได้เลยว่าไม่มีเงิน...
แต่ฉันมีทักษะบางอย่าง...ทักษะที่ฉันสะสมมานานในอาชีพฉัน...ทักษะที่จะทำให้ฉันกลายเป็นฝันร้ายสำหรับพวกแก
ถ้าแกคืนลูกสาวฉันตอนนี้...ฉันจะไม่เอาเรื่องแก
แต่ถ้าแกไม่...ฉันจะตามแก จะเจอแก และจะฆ่าแก
และคนร้ายก็พูดแค่ว่า Good Luck 

          เมื่อจบตรงนี้ขอบอกเลยหนังมันส์มาก ลูกสาวคนเดียวโดนแก๊งค้ามนุษย์ลักพาตัวไปทั้งทีมีหรือที่คุณพ่อจะยอมปล่อยง่ายๆ ไบรอันได้นำทักษะและประสบการณ์ที่ตัวเองสะสมขณะทำงานใน CIA ออกมาใช้เพื่อตามหาตัวลูก ยอดคุณพ่อนายไบรอัน ทั้งเก่ง ทั้งโหด และแค้นจับจิตสุดๆ ความรู้สึกรักลูกห่วงลูกและแค้นคนที่จับตัวลูกสาวเขาไปถูกถ่ายทอดผ่านฉากแอ็คชั่นไม่ว่าจะเป็นด้วยมือเปล่าหรือด้วยปืนประสบการณ์มากทำให้ไบรอันเกิดความเชี่ยวชาญ รวมถึงบุคลิกส่วนตัวที่เป็นคนช่างสังเกต และมีไหวพริบทำให้ไบรอันได้หลักฐานที่ใช้ในการหาตัวคิมมามากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเมื่อถึงปารีสครั้งแรกไบรอันมีหลักฐานที่ใช้ในการตามหาตัวคิมแค่สองอบ่างเท่านั้น นั่นคือ บทสนทนา(ข้อความเสียง)ที่บันทึกไว้ครั้งสุดท้ายก่อนที่คิมจะโดนลักพาตัวและที่อยู่ของคิมในตอนนั้นเท่านั้น


            ไม่ได้หมายความว่าหนังมีดีแค่ฉากต่อสู้ เรื่องราวความรักของพ่อที่มีต่อลูกก็ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านหนังเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน ม้ว่าบางครั้งความห่วงใยของไบรอันเป็นเหมือนเป็นการปิดกั้นโอกาสและอิสระของลูก แต่นั่นคือความห่วงใยจากคนที่มีประสบการณ์ชีวิตมากกว่า ตอนที่คิมโดนจับตัวไปไบรอันตัดสินใจไปปารีสทันทีโดยไม่สนใจอะไรทั้งนั้น แสดงให้เห็นถึงความรักที่ยิ่งใหญ่ของพ่อที่มีให้กับลูก ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกมีความสุข เหมือนกับไบรอันที่ไม่ได้เรียกร้องขอให้คิมมาอยู่ด้วยเพราะรู้ว่าในตอนนี้คิมมีความสุขดีอยู่แล้ว


นิทานซ้อนนิทานคืออะไร


บทวิเคราะห์เรื่องนิทานซ้อนนิทาน

นิทานซ้อนนิทานเป็นลักษณะการแต่งเรื่องที่พบในนิทานเวตาล พันหนึ่งราตรี นักวิชาการบางคนให้ความเห็นว่านิทานเอเชียโบราณนี้อาจได้รับอิทธิพลจากกรีกที่ทำสงครามขยายดินแดนและทำการค้าขายกับโลกทางฝั่งตะวันออก (เอเชีย) ลักษณะของนิทานซ้อนนิทานทั่วไปจะเป็นการแทรกนิทานเรื่องย่อยเข้าไปอยู่ในนิทานเรื่องใหญ่ แต่ไม่ได้หมายความว่านิทานที่มีเรื่องราวหลายเรื่องหลายตอนจะเป็นนิทานซ้อนนิทานเสมอไป ต้องเป็นนิทานที่มีปริศนาปิดท้ายนิทานย่อยภายในเรื่องหรือเป็นนิทานที่มีการทิ้งตอนไว้เป็นปมให้กับเรื่องต่อไปเพื่อทำการเชื่อมโยงระหว่างเรื่อง แบบนี้ถึงเรียกได้ว่าเป็นนิทานซ้อนนิทาน

ทำไมนิทานซ้อนนิทานถึงเป็นที่นิยมถ้ามองในมุมมองของผู้แต่ง การแต่งนิทานแนวนี้จะเป็นเหมือนการแสดงฝีมือลีลาในการแต่ง แสดงระดับความรู้ที่ตัวผู้แต่งมี เพราะนิทานซ้อนนิทานเป็นรูปแบบการแต่งเรื่องชั้นสูง มีรูปแบบการแต่งที่ค่อนข้างยาก ซับซ้อนหลายชั้น ผู้แต่งต้องมีความสามารถในการจัดลำดับเรียบเรียงเรื่อง การวางโครงเรื่อง การวางปมของนิทานย่อยที่ต้องสอดคล้อยคล้อยตามไปตามนิทานเรื่องใหญ่ ส่วนในด้านของผู้อ่านกัน เนื้อเรื่องที่มีความซับซ้อนเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้นิทานซ้อนนิทานกลายเป็นที่นิย ความสนุกสนานที่เกิดขึ้นจากความหลากหลายของเนื้อเรื่องส่งผลให้เรื่องไม่น่าเบื่อ ปมปัญหาบางอย่างได้ถูกทิ้งไว้ตรงตอนจบนิทานย่อยทุกครั้ง(เพื่อเตรียมขึ้นเรื่องใหม่) ทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกค้างคา(จึงอ่านต่อ) การปิดท้ายนิทานด้วยปริศนาจะส่งผล ทำให้ผู้อ่านได้ความสนุกสนานจากการคิดตามและการพิจารณาถึงเหตุผลของคำตอบที่เกิดขึ้นว่ามันสอดคล้องกับเนื้อเรื่องอย่างไร

การเปรียบเทียบรูปแบบของนิทานซ้อนนิทานทั้งสามเรื่องที่โด่งดังไปทั่วโลก ได้แก่ นิทานเวตาลปัญจวิงศติของอินเดียโบราณ นิทานพันหนึ่งราตรีของทางฝั่งอาหรับ และพระสรรพสิทธิของไทย ทั้งสามเรื่องนี้มีลักษณะเป็นการแต่งแบบนิทานซ้อนนิทานเหมือนกัน ถ้าพูดถึงความแตกต่าง เรามาเริ่มที่นิทานเวตาลเทียบกับพันหนึ่งราตรีกันก่อน ทั้งสองเรื่องมีรูปแบบการแต่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน นิทานเวตาลจะเป็นการซ้อนแบบใช้คำถามปริศนามาใช้ในการปิดเรื่องย่อย ทำให้ผู้อ่านได้คิดตามหลังอ่านเรื่องย่อยที่แทรกอยู่จบ แต่สำหรับพันหนึ่งราตรีจะมีรูปแบบการเล่าเรื่องแบบจบเป็นเรื่องๆ ตอนท้ายของเรื่องย่อยทุกเรื่องในพันหนึ่งราตรีจะมีปมหรือตัวละครที่ถูกเพิ่มเข้ามาใหม่เพื่อปูพื้น(เชื่อมโยง)ไปในเรื่องย่อยเรื่องต่อไป อย่างไรก็ตามทั้งสองเรื่องนี้มีจุดที่เหมือนกันอยู่หนึ่งจุด นิทานย่อยเกือบทุกเรื่องจะสอดแทรกคำสอน ข้อคิดต่างๆที่เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้

ส่วนนิทานเวตาลกับพระสรรพสิทธิสองเรื่องนี้เป็นการเล่าเรื่องโดยใช้ปริศนาคำทายปิดท้าย เป็นเชิงคิดวิเคราะห์ นอกจากรูปแบบการแต่งที่เหมือนกันแล้วยังมีเรื่องของลักษณะนิสัยตัวละครที่คล้ายกันมาก เวตาลและพระสรรพสิทธิที่เป็นคนถามปริศนามีลักษณะเป็นคน(ตัว)ฉลาด มีไหวพริบ ทั้งคู่รู้จักเลือกใช้คำถามเพื่อใช้หลอกล่ออีกฝ่ายให้ติดกับ เวตาลถามคำถามหลอกล่อให้พระวิกรมาทิตย์พูด ส่วนพระสรรพสิทธิก็ถามคำถามหลอกล่อให้นางสุพรรณโสภาเอ่ยปากออกความเห็นเช่นกัน แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ตัวละครทั้งสองตัวนี้หลอกล่อสำเร็จคือ การอ่านคนเป็น พระวิกรมาทิตย์และนางสุพรรณโสภาก็มีลักษณะนิสัยร่วมกันอย่างคือเป็นคนฉลาดและอดไม่ได้ที่จะแสดงออกมาว่าตัวเองฉลาด มีความรู้ จึงไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะเวตาลและพระสรรพสิทธิเอาชนะทั้งสองคนนี้ด้วยคำถาม

เนื้อหาจากย่อหน้าข้างบนทำให้เราเดาได้ไม่ยากว่ารูปแบบการแต่งของพระสรรพสิทธิกับพันหนึ่งราตรีต้องมีความแตกต่างกันแน่นอน (รูปแบบของพันหนึ่งราตรีจะค่อนข้างแปลกแยก) อย่างไรก็ตามพระสรรพสิทธิกับพันหนึ่งราตรีก็ไม่ได้ต่างกันทั้งหมด มีเรื่องของตัวเอก(พระสรรพสิทธิและนางสุนตลานาเชเฮอร์ซาเด)ที่ใช้ความฉลาดของตัวเองให้เกิดประโยชน์ เป็นจุดร่วมของสองเรื่องนี้


            ในปัจจุบันได้มีหนังสือและภาพยนตร์จำนวนไม่น้อยที่นำลักษณะการเล่าเรื่องแบบนิทานซ้อนนิทานมาใช้ทางผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างงานเขียนของโทลคีน (J. R. R. Tolkien) เรื่อง เดอะ ฮอบบิท (The Hobbit) ที่ถูกนำมาทำเป็นหนังฟอร์มยักษ์ กำกับโดย ปีเตอร์ แจ็คสัน (Peter Jackson) ถามว่าตรงไหนหรือที่เป็นรูปแบบของนิทานซ้อนนิทานที่โทลคีนเอามาใช้ ถ้าใครเคยดู เดอะ ฮอบบิทภาคแรก จะมีฉากสำคัญฉากหนึ่งที่ นายบิลโบ แบ็กกิ้น ตกลงมาในถ้ำ เก็บแหวนได้ และเจอกับกอลลั่ม(ที่กำลังจะจับบิลโบกินเป็นอาหาร) บิลโบออกอุบายเล่นทายปริศนากับกอลลั่ม โดยมีข้อตกลงว่าถ้าหากกอลลั่มชนะบิลโบก็จะยอมถูกกิน แต่ถ้าบิลโบชนะกอลลั่มต้องปล่อยเขากลับไปหาเพื่อนๆคนแคระ ช่วงของปริศนาที่บิลโบสลับกันถามกับกอลลั่มช่วงนี้คือช่วงที่โทลคีนยืมรูปแบบของนิทานซ้อนนิทานมาใช้ เห็นได้ว่าเป็นการซ้อนเรื่องด้วยปริศนาคำทายที่ชวนให้คิดตาม เป็นการดำเนินเรื่องด้วยคำถาม จะขอยกตัวอย่างปริศนาที่บิลโบและกอลลั่มใช้เล่นพนันกันมาให้ดูกัน อะไรเอ่ยมีรากแต่ไม่มีใครเห็นสูงกว่าต้นไม้ สูงสูงขึ้นไปแต่ไม่เคยโต(คำตอบคือภูเขา) อะไรเอ่ยไม่มีเสียงแต่ร้องได้ ไม่มีปีกแต่บินได้ ไม่มีฟันแต่กัดได้ ไม่มีปากแต่บ่นพึมพำได้ (คำตอบคือลม) อะไรเอ่ยทุกอย่างมันกินหมดไม่ว่าจะเป็นนก สัตว์ ต้นไม้ ดอกไม้ กินกระทั่งเหล็กแข็ง กัดกระทั่งเหล็กอ่อน หินแข็งๆ ก็เอามาบดกิน ฆ่ากษัตริย์ ทำลายเมือง ทลายกระทั่งภูเขาสูงๆ ให้พังลง (คำตอบคือเวลา) รู้สึกไหมว่าตรงนี้มีส่วนคล้ายกับนิทานเวตาล ถ้าเราลองหาข้อมูลเชิงลึกอีกสักนิดเราจะพบว่าโทลคีนได้หยิมยืมลักษณะการแต่งนิทานซ้อนนิทานของเวตาลมาใช้ ซึ่งก็คือรูปแบบการแต่งโดยใช้ปริศนาคำทายมาช่วยในการดำเนินเรื่อง ลองนึกดูว่าโทลคีนต้องอ่านหนังสือกี่เล่มกว่าจะได้ฮอบบิทมาหนึ่งเรื่อง หนังสือที่โทลคีนอ่านแน่นอนว่าจะต้องเป็นหนังสือที่มีคุณภาพ มีไอเดียหรือรูปแบบการแต่งที่น่าสนใจ ซึ่งในจุดนี้นิทานเวตาลมีครบ โทลคีนเลือกหยิบหนังสือที่เป็นต้นแบบของนิทานซ้อนนิทานเพื่อนนำมาประยุกต์ใช้กับงานเขียนของตัวเอง ซึ่งเขาก็ทำได้ดี