คุณค่าทางด้านเนื้อหาและวรรณศิลป์ของลิลิตตะเลงพ่าย
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า
กรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงนิพนธ์เรื่องลิลิตตะเลงพ่ายตามที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯให้นิพนธ์ขึ้น
เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ได้ทรงกู้อิสรภาพของไทยกลับคืนหลังจากเสียกรุงครั้งแรก
โดยการทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราช ลิลิตตะเลงพ่ายแต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทลิลิตสุภาพ
เป็นการแต่งร่ายสุภาพกับโคลงสุภาพสลับกันไป ประเภทของโคลงที่ใช้มีตั้งแต่โคลงสองสุภาพ
โคลงสามสุภาพ และโคลงสี่สุภาพ ลิลิตตะเลงพ่ายจึงเป็นวรรณคดีเฉลิมพระเกียรติและวรรณคดีประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่ามากทั้งในด้านเนื้อหา
และในด้านวรรณศิลป์
คุณค่าทางด้านเนื้อหาของลิลิตตะเลงพ่ายจะมีตั้งแต่คุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์
ด้านสังคม คุณธรรมข้อคิด ตลอดจนวิถีชีวิตของคนไทยในสมัยก่อน
ในด้านประวัติศาสตร์ลิลิตตะเลงพ่ายได้บอกเล่าเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่มีบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับจันทนุมาศ
(เจิม) ผู้เขียนพยายามรักษาข้อเท็จจริงไว้ไม่ให้คลาดเคลื่อนจากเนื้อหาภายในพงศาวดาร
เช่น เส้นทางการเดินทัพ ชื่อแม่ทัพหรือชื่อนายกอง เป็นต้นเนื้อหาภายในพระราชพงศาวดารเล่าถึง
การกระทำของพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงที่มีคำสั่งให้พระมหาอุปราชายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาหลังจากที่ทรงทราบข่าวการสวรรคตของพระมหาธรรมราชา
แต่ในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระนเรศวรได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ครองเมืองแล้วจึงได้จัดทัพเตรียมรับศึกนอกพระนคร
พระนเรศวรมหาราชทรงใช้สติปัญญาและไหวพริบของตนเองจนสามารถเอาชนะพระมหาอุปราชได้
คุณค่าทางด้านสังคม
ลิลิตตะเลงพ่ายเป็นสรรณคดีที่ปลุกกระแสรักชาติให้กับคนในสังคมไทย
เมื่ออ่านแล้วจึงเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในชาติ และซาบซึ้งถึงการเสียสละของบรรพบุรุษไทยที่เสียเลือดเนื้อเพื่อปกป้องชาติ
วรรณคดีเรื่องนี้จึงเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนในปัจจุบันให้เกิดความหวงแหนในแผ่นดิน
และภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย ลิลิตตะเลงพ่ายแสดงให้เห็นถึงความเชื่อของคนไทยในสมัยก่อน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโหราศาสตร์ หรือลางบอกเหตุต่างๆ เช่น
ตอนที่พระนเรศวรทรงพระสุบินว่า ทรงลุยน้ำไปพบจระเข้ตัวใหญ่ที่หมายจะเข้ามาทำร้ายพระองค์
และพระองค์ได้ประหารจระเข้ตัวนั้นตาย จึงนำความฝันนี้ไปให้โหรทำนาย โหรทำนายว่าจะพระนเรศวรจะชนะศึกหงสาวดี
ทันใดดิลกเจ้า จอมถวัลย์
สร่างผทมถวิลฝัน ห่อนรู่
พระหาพระโหรพลัน พลางบอก ฝันนา
เร็วเร่งทายโดยกระทู้ ที่ถ้อยตูแถลง
และอีกตอนที่เห็นได้ชัดคือตอนที่ลมเวรัมภาพัดฉัตรของพระมหาอุปราชาหักลงขณะเดินทัพ
พระพลันเห็นเหตุไซร้ เสียวดวง แดเอย
ถนัดดั่งภูผาหลวง ตกต้อง
กระหม่ากระเหม่นทรวง สั่นซีดพักตร์นา
หนักหฤทัยท่านร้อง เรียกให้โหรทาย
วิถีชีวิต
ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ก็มีบรรยายไว้ในลิลิตตะเลงพ่าย เช่น ก่อนออกรบก็ต้องมีการปลุกขวัญกำลังใจทหาร
กษัตริย์ต้องสรงน้ำ แต่งเครื่องต้นสวยงามก่อนออกสู่สนามรบ ผู้คนมีความศรัทธาอย่างเข้มแข็งในพระพุทธศาสนา
เห็นได้จากการนำพระพุทธรูปออกไปในการสู้รบด้วย
คุณธรรมข้อคิดก็เป็นหนึ่งในหัวข้อของคุณค่าทางด้านเนื้อหา
ลิลิตตะเลงพ่ายได้สอนคุณธรรมที่ควรปฏิบัติให้กับผู้อ่านได้หลายอย่าง เช่น
การเป็นคนกตัญญูต่อบุคคลใกล้ชิดและต่อประเทศชาติ เห็นได้จากบทรำพึงของพระมหาอุปราชถึงพระราชบิดา
แสดงให้เห็นถึงความห่วงใยของลูกที่มีต่อพ่อระหว่างที่ตนเองออกไปรบ
พระมหาอุปราชทรงห่วงว่า ถ้าหากตัวเองตายเพราะศึกครั้งนี้
ใครจะออกไปรบแทนพ่อเมื่อมีศึกมาประชิดเมือง
แล้วถ้าไม่มีใครประเทศพม่าจะอยู่ได้อย่างไร
ณรงค์นเรศวร์ด้าว ดัสกร
ใครจักอาจออกรอน รบสู้
เสียดายแผ่นดินมอญ พลันมอด ม้วยแฮ
เหตุ บ่
มีมือผู้ อื่นต้านทานเข็ญ
การเป็นคนช่างสังเกต
มีไหวพริบ
จะทำให้ตัวเองพ้นจากอันตรายได้อย่างเช่นพระนเรศวรที่ต้องตกอยู่ท่ามกลางกองทัพพม่าเพราะช้างเกิดตกมัน
พระนเรศวรทรงใช้สติปัญญาและปฏิภาณไหวพริบของตัวเองมาใช้ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการพูดจาโน้มน้าวและทำตัวอ่อนน้อมถ่อมตนต่อพระมหาอุปราชเพื่อให้พระมหาอุปราชออกมาทำยุทธหัตถีเพราะเล็งเห็นว่านี่เป็นหนทางที่เสี่ยงน้อยที่สุดและมีโอกาสได้ชัยชนะมากที่สุด
ตอนที่พระวันรัตนกราบทูลขอพระนเรศวรให้พระราชทานอภัยโทษแก่บรรดาแม่ทัพ
นายกอง และทหารทั้งหลายที่ตามเสด็จไม่ทัน จึงเป็นเหตุทำให้พระองค์ต้องไปตกอยู่ในวงล้อมพม่า
ก็เป็นอีกตัวอย่างของการใช้ไหวพริบและการพูดจาโน้มน้าวใจคน พระวันรัตสามารถโน้มน้าวใจพระนเรศวรได้โดยบอกว่า
การที่ทหารเสด็จตามพระองค์ไม่ทันเป็นการแสดงถึงความเก่งกาจของพระองค์ที่สามารถเอาชนะกองทัพพม่าได้ด้วยตัวพระองค์เอง พระนเรศวรเมื่อฟังแล้วก็เกิดความภูมิใจในชัยชนะอันยิ่งใหญ่ที่ได้มาด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์เอง
ทำให้บรรดาแม่ทัพนายกองรอดพ้นจากการโดนประหารตามที่มีบัญญัติไว้ในกฎอัยการศึก
ด้านวรรณศิลป์ลิลิตตะเลงพ่ายถือว่าเป็นแบบอย่างที่ดีในการแต่ง
เพราะมีสำนวนโวหารที่ไพเราะควบคู่ไปกับการเลือกสรรถ้อยคำอย่างประณีตทำให้สื่อความได้ชัดเจนและไพเราะ
ไม่ว่าจะเป็นตอนทำศึกสงคราม หรือตอนที่เศร้าโศกผู้แต่งก็สามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างดีเยี่ยม
สื่อออกมาผ่าน การเล่นเสียง การซ้ำคำ การเล่นคำพ้อง การสร้างจินตภาพ
และการใช้ภาพพจน์ต่างๆ เช่น อุปมา อุปลักษณ์ สัทพจน์ หรืออติพจน์
เหล่านี้ล้วนมีอยู่ในวรรณคดีเรื่องนี้
ในลิลิตตะเลงพ่ายมีการเล่นเสียงอยู่ในแทบทุกบท รูปแบบของการเล่นเสียงที่นำมาใช้มากที่สุดคือการเล่นเสียงพยัญชนะ
รองลงมาคือสระ และวรรณยุกต์
แสดงถึงความเก่งกาจของผู้เขียนที่สามารถเลือกใช้คำที่มีเสียงพยัญชนะ สระ
หรือวรรณยุกต์ที่เหมือนกันมาเรียงต่อกันโดยที่มีความหมายชัดเจน
เสียงที่เหมือนกันทำให้เกิดความไพเราะเมื่ออ่านออกเสียงเป็นทำนองเสนาะ
ตัวอย่างการเล่นเสียงพยัญชนะ
v ดำเนินพจนพากย์พร้อง พรรณนา
องค์อัครอุปราชา ท่านแจ้ง
กอบเกิดขัตติยมา นะนึก หาญเฮย
ขับคชเข้ายุทธ์แย้ง ด่วนด้วย
โดยถวิล
ในบทนี้มีการเล่นเสียงพยัญชนะ
พ, อ และ ด
v
งามสองสุริยราชล้ำ เลอพิศ นาพ่อ
พ่างพัชรินทรไพจิตร ศึกสร้าง
ฤารามเริ่มรณฤทธิ์ รบราพณ์แลฤา
ทุกทิศทุกเทศอ้าง อื่นไท้
ไป่เทียบ
ในบทนี้มีการเล่นเสียงพยัญชนะ
ส, พ, ร และ ท
v
สมเด็จอนุชน้องแก้ว ทรงสุภาแพร้ว เพริศพร้อมเพราตา
ในบทนี้มีการเล่นเสียง
พ
ตัวอย่างการเล่นเสียงสระ
v
บัดมงคลพ่าห์ไท้
ทวารัติ
แว้งเหวี่ยงเบี่ยงเศียรสะบัด ตกใต้
อุกคลุกพลุกเงยงัด คอคชเศิกแฮ
ในบทนี้มีการเล่นสระ
เอีย และ สระ อุ
v
พระพลันทรงเครื่องต้น งามประเสริฐเลิศล้น (เล่นเสียงสระ เออ)
การซ้ำคำ
เป็นการซ้ำเพื่อเน้นย้ำความหมายของคำๆนั้น หรือเป็นการเน้นย้ำให้ทำ
ปรากฏอยู่ในลิลิตตะเลงพ่ายตอนที่พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง(พ่อของพระมหาอุปราช)อวยพรและสั่งสอนพระมหาอุปราชก่อนออกไปทำศึกสงครามดังต่อไปนี้
v
จงจำคำพ่อไซร้ สั่งสอน
จงประสิทธิ์สมพร พ่อให้
จงเรืองพระฤทธิ์รอน
อริราช
จงพ่อลุลาศได้ เผด็จด้าว แดนสยาม
(มีการซ้ำคำว่า
จง )
การเล่นคำพ้อง ในลิลิตตะเลงพ่ายมีเล่นทั้งคำพ้องรูปและคำพ้องเสียง
v
สลัดไดใดสลัดน้อง แหนงนอน ไพรฤา
เพราะเพื่อมาราญรอน เศิกไสร้
สละสละสมร เสมอชื่อ ไม้นา
นึกระกำนามไม้ แม่นแม้น ทรวงเรียม
มีการเล่นคำพ้องเสียงคือคำว่า
(สลัด)ได กับ ใด ส่วนคำพ้องรูปคือคำว่า สลัด กับ สละ
นอกจากจะมีคำพ้องเสียงแล้วยังมีการเล่นพยัญชนะ พ,ส และ ม เข้ามาเสริมอีกด้วย
v
สายหยุดหยุดกลิ่นฟุ้ง ยามสาย
สายบ่หยุดเสน่ห์หาย ห่างเศร้า
กี่คืนกี่วันวาย วางเทวษ
ราแม่
ถวิลทุกขวบค่ำเช้า หยุดได้ฉันใด
ในบทนี้มีการเล่นคำพ้องรูปคือคำว่า สาย
และมีการเล่นเสียงพยัญชนะ ว และแสดงให้เห็นถึงจินตภาพทางการได้กลิ่น ส่วนจินตภาพทางด้านการมองเห็นมีอยู่ในฉากต่อสู้ต่างๆ
แต่ในที่นี้จะยกตัวอย่างตอนที่ลม เวรัมภา พัดฉัตรของพระมหาอุปราชหัก
เมื่ออ่านแล้วสามารถจินตนาการได้ถึงความแรงของลมที่มีกำลังแรงมากจนสามารถพัดฉัตรให้หักลงมาได้
v
เกิดเป็นหมอกมืดห้อง เวหา หนเฮย
ลมชื่อเวรัมภา
พัดคลุ้ม
หวนหอบหักฉัตรตรา
คชขาด ลงแฮ
แลธุลีกลัดกลุ้ม เกลื่อนเพี้ยงจักรผัน
การใช้ภาพพจน์ในลิลิตตะเลงพ่าย
มีการใช้ภาพพจน์แบบอุปมาหรือก็คือการเปรียบเหมือน อุปลักษณ์การเปรียบเป็น
สัทพจน์การเลียนเสียงธรรมชาติ และสุดท้าย อติพจน์คือการกล่าวเกินจริง
ต่อไปนี้คือตัวอย่างของภาพพจน์ที่อยู่ในลิลิตตะเลงพ่าย ดังนี้
ตัวอย่างการใช้อุปมา มีคำเชื่อมคือ ดั่ง,ดุจ,เปรียบ,ปูน,ราว,กล และ
เพี้ยง
v
พระพลันเห็นเหตุไซร้ เสียวดวง แดเอย
ถนัดดั่งภูผาหลวง ตกต้อง
v
อ้าจอมพระจักรพรรดิผู้ เพ็ญยศ
แม้นพระเสียเอารส แก่เสี้ยน
จักเจ็บพระอุระระทด ทุกข์ใหญ่ หลวงนา
ถนัดดั่งพาหาเหี้ยน หั่นกลิ้งไกลองค์
ทั้งสองบทข้างต้นนี้เป็นลักษณะภาพพจน์แบบอุปมา
เพราะมีคำเชื่อมคือ ดั่ง
ตัวอย่างการใช้อุปลักษณ์ มีคำเชื่อมคือ เป็น หรือ คือ
v นุสนธิ์ซึ่งน่านน้ำ นองพนาสณฑ์เอย
หนปัจฉิมทิศา ท่วมไซร้
คือทัพอริรา- มัญหมู่นี้นา
สมดั่งลักษณ์ฝันไท้ ธเนศนั้นอย่าแหง
โคลงข้างต้นนี้เป็นลักษณะการใช้ภาพพจน์แบบอุปลักษณ์
โดยมี คือ เป็นคำเชื่อม โดยเปรียบน่านน้ำ เป็น กองทัพพม่า
v
บุรีรัตนหงสา ธ
ก็บัญชาพิภาษ ด้วยมวลมาตยากร
ว่านครรามินทร์ ผลัดเปลี่ยนแผ่นดินเปลี่ยนราช เยียววิวาทชิงฉัตร
เปรียบนครรามินทร์ (ราม+อินทร์) เมืองของพระรามในที่นี้หมายถึงกรุงศรีอยุธยา
เปรียบเทียบฉัตร เป็นตัวแทน เป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์ ชิงฉัตร
จึงมีความหมายว่าชิงราชบัลลังก์)
ตัวอย่างการใช้ สัทพจน์
v
เร่งคำรนเรียกมัน ชันหูชูหางแล่น แปร้นแปร๋แลคะไขว่
ใช้คำว่าแปร้นแปร๋แทนเสียงของช้าง
ตัวอย่างการใช้อติพจน์ การกล่าวอะไรเกินจริง
ขอยกตัวอย่างบทรำพึงของพระมหาอุปราชต่อพระราชบิดา
(นันทบุเรง) ว่าด้วยการเทียบพระคุณของบิดาว่ามีมากกว่าแผ่นดิน
ยิ่งใหญ่กว่าสวรรค์ชั้นฟ้า หรือ บาดาล
v
พระคุณตวงเพียบพื้น ภูวดล
เต็มตรลอดแหล่งบน บ่อนใต้
พระเกิดพระก่อชนม์ ชุมชีพ มานา
เกรง บ่ ทันลูกได้ กลับเต้าตอบสนอง
ลิลิตตะเลงพ่าย
เป็นวรรณคดีชั้นสูงและมีคุณค่ามากดังที่กล่าวไปข้างต้น จึงทำให้วรรณคดีเรื่องนี้เป็นที่นิยมอ่านของคนไทยกันมาจนถึงปัจจุบัน
ผู้อ่านจะได้ซาบซึ้งในความไพเราะด้านวรรณศิลป์แล้วยังได้รับความรู้ทางสังคม
ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมต่างๆของคนไทยในสมัยก่อน ควรค่าแก่การศึกษาอย่างยิ่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น