วันอังคารที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2557

The Legend of 1900 “จุดสิ้นสุดของโลกไปนี้...อยู่ตรงไหน”

The Legend of 1900“จุดสิ้นสุดของโลกไปนี้...อยู่ตรงไหน”

          จูเซปเป้ ทอนาทอเร่ ผู้กำกับหนังอิตาลีชื่อดังจากเรื่อง Cinema Paradiso ได้มาทำงานในฐานะของผู้กำกับและผู้เขียนบทในเรื่อง The Legend of 1900 ทั้งหมดเป็นเรื่องราวของชายหนุ่มคนหนึ่งเกิดและโตในเรือเดินสมุทรเวอร์จิเนีย ตั้งแต่เกิดจนวาระสุดท้ายของชีวิต โดยที่ไม่เคยก้าวขึ้นไปยืนบนแผ่นดินสักครั้ง

          ช่วงปี ค.ศ. 1900 (ช่วงเวลาในภาพยนตร์) เป็นช่วงที่อเมริกาเรื่องเข้ามามีความสำคัญกับสังคมโลก และการเร่งพัฒนาในด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็นอุสาหกรรม ธุรกิจบันเทิง ดนตรี(แจ๊ส) การอพยพของชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยในอเมริกาเพื่อเริ่มชีวิตใหม่ที่มีความมั่นคง โดยการใช้เรือเดินสมุทรข้ามทะเลมา

          ตัวเอกของเรื่องนี้คือนาย”พันเก้า” ผู้ที่เกิดบนเรือ”เวอร์จิเนีย” เรือเดินสมุทรที่พาผู้อพยพจากทางฝั่งยุโรปเข้ามาในอเมริกา นายพันเก้าแสดงทักษะความสามารถทางดนตรีออกมาตั้งแต่อายุแปดขวบ เขาสามารถเล่นดนตรีได้โดยที่ไม่ต้องมีใครสอน เวลาผ่านไปนายพันเก้าได้เป็นนักดนตรีอยู่บนเรือเวอร์จิเนียและไม่เคยก้าวเท้าลงจากเรือเลยสักครั้ง หลายคนคงสงสัยว่าจินตนาการของนายพันเก้านำมาจากไหน จินตนาการอะไรที่ทำให้เขาเล่นเปียโนได้ยอดเยี่ยมและถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกได้ดีขนาดนั้น เมื่อทั้งชีวิตไม่เคยขึ้นจากเรือ นายพันเก้ารับรู้เรื่องราวจากบนบกผ่านการอ่านหนังสือเล่มแล้วเล่มเล่า เรียนรู้จากผู้คนมากมายที่ผ่านเข้ามากับเรือในแต่ละเที่ยวของการเดินทางไม่ว่าจะเป็นสายตาหรือคำพูดของใครสักคน นายพันเก้ารู้จักที่จะฟัง รู้จักการอ่านทุกสัญลักษณ์ที่ทุกคนนำติดตัวมา ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ เสียง กลิ่น หรือผืนดิน

“แต่ละครั้งที่เขาเล่นดนตรี...เขาเดินทางไปในที่ที่ต่างกัน มันเป็นเรื่องยากที่จะทำความเข้าใจ ด้วยเหตุว่าเขาไม่เคยขึ้นจากเรือแม้เพียงสักครั้ง แต่ก็เหมือนกับว่าเขาเคยไปเห็นมาแล้ว แน่นอนเขาไม่เคยไปยังสถานที่เหล่านั้น” (ตัดมาจากหนังสือเรื่องโนเวนเชนโต้)

ครั้งหนึ่งนายพันเก้าเคยตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าตัวเองจะขึ้นจากเรือเวอร์จิเนียไปบนบกแต่สุดท้ายก็หันหลังกลับเข้าเรือและบอกกับตัวเองว่าจะไม่ขึ้นบกอีกตลอดที่ตนยังมีชีวิตอยู่ ก่อนวาระสุดท้ายของชีวิตนายพันเก้าบอกเล่าถึงเหตุผลที่ทำให้เขากลับเข้าเรือในวันนั้นว่า ไม่ใช่เพราะสิ่งที่มองเห็นหรอก แต่เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นต่างหากที่ทำให้เขาหยุดชะงักในวันนั้น นายพันเก้าพยายามมองหาจุดสิ้นสุดในเมืองใหญ่ที่อยู่ตรงหน้าแต่ก็หาไม่พบ ความกลัวจึงเกิดขึ้นมาในใจของนายพันเก้า ตลอดเวลาที่อยู่บนเรือลำนี้ เขาก็มีความปรารถนาเช่นเดียวกับคนอื่นๆที่ผ่านเข้ามาในเรือแต่ทว่าความปรารถนานั้นมีขอบเขตแค่หัวเรือถึงท้ายเรือเท่านั้น

“หากเปรียบกับเปียโนสักหลัง คีย์เปียโนมีที่เริ่มต้นและมีที่สิ้นสุด ทั้งหมดมีแปดสิบแปดคีย์ ถ้าผู้เล่นไม่มีที่สิ้นสุด ดนตรีที่เล่นก็จะไร้จุดสิ้นสุด ซึ่งต่างจากเปียโนชีวิตบนผืนแผ่นดิน ที่เบื้องหน้ามันมีคีย์เปียโนหลายพันล้านคีย์ที่ไม่มีวันหมดสิ้น กับคีย์เปียโนแบบนั้นไม่มีดนตรีอะไรที่เราจะเล่นได้  คงเหมือนกับถนนหนทางอันมากมายในโลกใบนี้ เราจะเลือกถนนสักสายได้อย่างไร หรือถ้าจะเลือกผู้หญิงสักคน บ้านสักหลัง ที่ดินสักผืน ทิวทัศน์ไว้มอง วิธีที่จะตาย โลกตรงนั้นทั้งหมด ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงตรงไหนนี่คือคำพูดของนายพันเก้าที่กล่าวถึงเมืองใหญ่ที่ไร้จุดสิ้นสุด

นายพันเก้ามีความผูกพันกับเรือเวอร์จิเนียมาตั้งแต่เกิดทำให้เป็นเรื่องยากที่ทำให้เขาตัดใจขึ้นจากเรือได้ เขาไม่ใช่คนที่ไม่กล้าตัดสินใจอะไรในชีวิตเพราะเห็นว่ามันเป็นเรื่องยาก นายพันเก้าเป็นคนที่มีนิสัยที่ไร้เดียงสาเหมือนเด็กทำให้หวาดเกรงต่อสถานที่ใหม่ เขาต้องการกรอบหรือขอบเขตที่ชัดเจนเพื่อเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต ไม่ชอบความวุ่นวาย และอเมริกาไม่ใช่สถานที่แบบนั้น อเมริกาเป็นสถานที่ที่มีแต่ความอิสรเสรีและความวุ่นวาย

ทุกคนมีโลกที่เหมาะสมลงตัวกับชีวิตตัวเองกันไปคนละแบบ โลกใบที่ไม่อาจวัดด้วยคำว่า ดีกว่า หรือ แย่กว่าสำหรับคนอื่น สำหรับนายพันเก้าโลกที่เหมาะสมและลงตัวกับชีวิตของเขาที่สุดก็คงจะเป็นชีวิตบนเรือเวอร์จิเนีย กับเปียโนหนึ่งหลังแปดสิบแปดคีย์ที่มีจุดสิ้นสุด